หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน

“ ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน เพื่อตอบสนองตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ”
สมรรถนะที่ ๑ การดูแลรักษาผู้ป่วย (patient care)
ก. สามารถให้การตรวจรักษาเพื่อให้พ้นจากภาวะวิกฤต/ฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ป่วยมีเสถียรภาพ (stabilization) รวมถึงทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพในทุกกลุ่มอายุ ในด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน
ข. มีทักษะการซักประวัติและตรวจร่างกายที่ตรงประเด็น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ ในบริบทที่มีความจำกัดต่าง ๆ รวมถึงการส่งตรวจและแปลผลทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัย วินิจฉัยแยก โรค และการวางแผนรักษาที่เหมาะสม
ค. สามารถสังเกตอาการและการประเมินซ้ำ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการวินิจฉัย และการรักษาตามข้อมูลที่ได้ใหม่ สามารถตัดสินใจจำหน่ายผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉินอย่างเหมาะสม
ง. สามารถทำงานในลักษณะของพหุภารกิจได้
จ. ทักษะการทำหัตถการฉุกเฉิน เช่น การดูแลบาดแผล การเปิดหลอดเลือด (vascular access) การตรวจคลื่นความถี่สูงในการวินิจฉัยแบบตรงเป้า (goal-directed ultrasound) การดูแลทางเดินหายใจ ในผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง มีระบบไหลเวียนโลหิตไม่คงที่ เป็นต้น โดยหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้ เกิดภาวะแทรกซ้อน และตระหนักถึงผลลัพธ์และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

สมรรถนะที่ ๒ ความรู้และทักษะเวชกรรม (Medical knowledge and skills)
ก. มีความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เช่น หลักการทาง วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกายและจิตใจ หลักการเวชปฏิบัติอิงหลักฐาน ความรู้ทางคลินิกเกี่ยวกับโรคและภาวะฉุกเฉินทุกสาขาวิชา อาการ อาการแสดง พยาธิสรีรวิทยาของการเกิดโรค ยาที่ใช้รักษา เป็นต้น
ข. ความชำนาญในด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินเพิ่มเติม เช่น ความรู้ด้านเวชศาสตร์ภัยพิบัติ (Disaster medicine) การลำเลียงผู้ป่วยรวมถึงการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ (Aeromedical transportation) ความรู้ด้านพิษวิทยา (Emergency toxicology) ความรู้ด้านโรคและภาวะที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม ทักษะในการตรวจประเมินผู้ป่วยด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (Emergency Ultrasound life support) ความรู้ด้านการแพทย์ในถิ่นทุรกันดาร (Wilderness medicine) เป็นต้น

สมรรถนะที่ ๓ ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (Interpersonal skills and communication)
ก. มีทักษะการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (ผู้ร่วมงาน ผู้ป่วยและญาติ) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข. ทักษะในการนาเสนอทางวิชาการต่าง ๆ และการถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้อื่น
ค. เป็นผู้นำทีมในการให้การบริบาลโดยมีผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง

สมรรถนะที่ ๔ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ และการพัฒนาตนเอง (Practice-based learning and improvement)
โดยสามารถปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพ หรือทำงานเป็นทีมได้ มีความสามารถปรับตัว และพัฒนาสมรรถภาพของตนเอง ในด้านต่อไปนี้
ก. ระบบงานในแผนกฉุกเฉิน
ข. การเรียนรู้ด้วยตนเอง
ค. การดูแลผู้ป่วย
ง. การทำวิจัย
จ. การจดบันทึกข้อมูลทางการแพทย์

สมรรถนะที่ ๕ ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
ก. มีความเมตตา กรุณา เคารพผู้อื่น รวมถึงยึดมั่นในหลักการทางเวชจริยศาสตร์
ข. มีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วย สังคม วิชาชีพ และต่อตนเอง

สมรรถนะที่ ๖ การปฏิบัติบนฐานแห่งระบบ (Systems-based practice)
ก. มีความรู้เกี่ยวกับบทบาทของการแพทย์ทางเลือก ระบบสุขภาพและการพัฒนาสาธารณสุขของชาติ
ข. ความรู้เกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพ เช่น ระบบประกันสุขภาพ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ เป็นต้น ความรู้เกี่ยวกับการประกันคุณภาพ และกระบวนการ hospital accreditation การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดูแลรักษา การดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง
ค. ความรู้เกี่ยวกับ cost consciousness medicine เช่น นโยบายการใช้ยาระดับชาติ บัญชียาหลักแห่งชาติ การใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นต้น
ง. ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทางการแพทย์ หลักการบริหารจัดการต่างๆ
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม เป็นไปตามแพทยสภากำหนด
หลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรม
1. เป็นแพทย์เพื่อปฏิบัติงานชดใช้ทุนหรือปฏิบัติงานในโครงการจัดสรรแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์แพทย์ศาสตร์คลินิกของกระทรวงสาธารณสุข (แผน ข)สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โดยใช้เกณฑ์การคัดเลือกตามข้อ ค-จ
2. เป็นแพทย์ที่ผ่านหรือคาดว่าจะผ่านการเพิ่มพูนทักษะตามที่กระทรวงกำหนด (แผน ก) โดยใช้เกณฑ์การคัดเลือกตามข้อ ก-จ

ก. ให้ความสำคัญแก่ผู้มีต้นสังกัด ตามลำดับดังนี้
(๑) โรงพยาบาลในสังกัดหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นหรือมีศักยภาพเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เป็นลำดับแรก
(๒) โรงพยาบาลในสังกัดหน่วยงานของรัฐ ที่มีศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก เป็นลำดับถัดจาก (๑)
(๓) โรงพยาบาลหรือสถาบันที่เป็นที่ปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะ เป็นลำดับถัดจาก (๒)
(๔) โรงพยาบาลระดับรองลงมา ตามลำดับ เป็นลำดับถัดจาก (๓)

ข. ให้ความสำคัญแต่ผู้ที่ปฏิบัติงาน/ปฏิบัติงานชดใช้ทุนมานานกว่าก่อน ตามลำดับดังนี้
(๑) ผู้มีต้นสังกัดจากหน่วยงานของรัฐและปฏิบัติงาน/ปฏิบัติงานชดใช้ทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นลำดับแรก
(๒) ผู้มีต้นสังกัดจากหน่วยงานของรัฐและปฏิบัติงาน/ปฏิบัติงานชดใช้ทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นลำดับถัดจาก (๑)
(๓) ผู้มีต้นสังกัดจากหน่วยงานของรัฐและปฏิบัติงาน/ปฏิบัติงานชดใช้ทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นลำดับถัดจาก (๒)
(๔) ผู้มีต้นสังกัดจากหน่วยงานของรัฐและปฏิบัติงาน/ปฏิบัติงานชดใช้ทุนมาแล้วน้อยกว่า ๑ ปี/ไม่ได้ปฏิบัติงานใช้ทุน หลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นลำดับถัดจาก (๓)

ค.เกณฑ์การตัดสิน แบ่งเป็น ๓ ด้าน
(๑) ด้านความรู้ เนื่องจากแพทย์ประจำบ้านที่จบการฝึกอบรมควรมีความสามารถทางเวชกรรมฉุกเฉิน ในระดับที่สามารถให้ความรู้แก่แพทย์ประจำบ้าน แพทย์เพิ่มพูนทักษะ และนักศึกษาแพทย์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจข้อแรกของการฝึกอบรม กรอบโครงสร้างของการฝึกอบรมและเกณฑ์การรับสมัครแพทย์ประจำบ้าน ในการตัดสินผล มีการพิจารณาข้อมูลด้านความรู้ ได้แก่
- ผลการศึกษาในระดับปริญญาตรี
- ผลการศึกษาในรายวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินหรือรายวิชาที่เกี่ยวข้อง
- ผลคะแนนสอบประเมินและรับรองความรู้ความสามารถ ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ศรว.) ขั้นตอนที่ ๑ และขั้นตอนที่ ๒
(๒) ด้านพฤติกรรม ประสบการณ์ และการมีส่วนรวมในกิจกรรมทางสังคม เพื่อคัดเลือก แพทย์ประจำบ้านทีมีคุณลักษณะ และพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อการเป็นแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงพื้นฐาน ประสบการณ์ที่นำไปสู่การพัฒนาคุณลักษณะของการเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานภาครัฐได้อย่างมีความสุข ในการตัดสินผลมีการพิจารณาข้อมูลด้านพฤติกรรม ประสบการณ์ และการมีส่วนรวมในกิจกรรมทางสังคม ได้แก่
- ข้อมูลจากหนังสือรับรอง/แนะนำผู้สมัคร
- ข้อมูลจากแฟ้มแสดงประวัติส่วนบุคคล มีข้อมูลแสดงถึงการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับกิจกรรมด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินเช่น เคยผ่านวิชาเลือกเสรี(elective) เคยผ่านการฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ผลงานวิชาการ และกิจกรรมพิเศษ (Curriculum vitae) ของผู้สมัคร
- บุคลิกภาพ
(๓) ด้านเจตคติ เพื่อคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านที่มีเจตคติที่ดีต่อการเป็นแพทย์ฉุกเฉินสอดคล้องกับกรอบโครงสร้างของการฝึกอบรม คัดเลือกแพทย์ที่มีเจตคติที่ดีต่อการเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานภาครัฐได้อย่างมีความสุข รวมถึง การเป็นอาจารย์แพทย์ตามแนวทาง วฉท. ทำบันทึกข้อตกลงไว้กับกระทรวงสาธารณสุข ในการตัดสินผลมีการพิจารณาข้อมูลด้านเจตคติ ได้แก่
- หนังสือแสดงความจำนงส่วนบุคคล (Personal statement of purpose) ของผู้สมัคร
- การตอบคำถามจากการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน

ง. คณะอนุกรรมการการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน
คณะอนุกรรมการการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน มีจำนวนอย่างน้อย ๕ คน ประกอบด้วย
(๑) ประธานอนุกรรมการการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ในโรงพยาบาลนครพิงค์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน
(๒) กรรมการการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน อย่างน้อย ๓ คน เป็นอนุกรรมการ
(๓) ผู้แทนแพทย์ประจำบ้าน อย่างน้อย ๑ คน เป็นอนุกรรมการ อนุกรรมการทุกคน สามารถให้คะแนนตามเกณฑ์ ได้โดยอิสระและจะต้องลงนามในหนังสือการไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ ผู้สมัคร

จ.วิธีการคัดเลือก
วิธีการคัดเลือกดำเนินการโดยใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ โดยใช้แบบประเมินหรือวิธีอื่น ตามมติของคณะอนุกรรมการการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครพิงค์

ฉ. การตัดสินผลการคัดเลือก
การตัดสินผลการคัดเลือกเป็นการดำเนินงานตามเกณฑ์ที่ผ่านมติเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินโรงพยาบาลนครพิงค์ โดยตั้งบนพื้นฐานความเสมอภาค โปร่งใสตรวจสอบได้

ช. การอุทธรณ์ผลการคัดเลือก
กรณีผู้สมัครมีข้อสงสัยในกระบวนการการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้านสามารถยื่นเอกสารอุทธรณ์ผลการคัดเลือกตามขั้นตอน
ชั้นแรกยื่นเรื่องอุทธรณ์ผลการตัดสินต่อคณะกรรมการการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านโรงพยาบาลนครพิงค์ ให้ดำเนินการแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการ พิจารณาภายใน ๗ วัน หากไม่พอใจในคำตัดสิน ผู้สมัครสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อในรอบที่๒โดยยื่นเรื่องอุทธรณ์ผลการตัดสินคณะอนุกรรมการการฝึกอบรม และสอบฯสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินของแพทยสภา โดยคำตัดสินของคณะกรรมการในชั้นนี้ถือว่าเป็น ที่สิ้นสุด
ผู้รับการฝึกอบรม มีสิทธิดังต่อไปนี้
ก. ได้รับค่าตอบแทนนอกเวลาราชการตามระเบียบโรงพยาบาลนครพิงค์และได้รับเงินเดือน ตามระเบียบ กพ. รวมถึงสวัสดิการต่างๆตามประกาศ กพ.
ข. ได้รับสิทธิในการเข้าถึงระบบฐานข้อมูลด้านเวชกรรมของโรงพยาบาลเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ด้านเวชกรรมในโรงพยาบาลนครพิงค์
ค. ได้รับสิทธิ์ให้ปฏิบัติงานไม่เกินเวลาที่ระบุไว้ในเกณฑ์หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางเพื่อ วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ฉบับปรับปรุง ครั้งที่๔ พ.ศ. ๒๕๖๑
ง. ได้รับสิทธ์ในการลาเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการต่างๆของกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินหรือของ โรงพาบาลนครพิงค์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานที่ตนเองรับผิดชอบ ตามระเบียบโรงพยาบาลนครพิงค์ ว่าด้วย การลาฝึกอบรม
จ. ได้รับสิทธิ์การเข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการต่างๆของกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือของโรงพยบาล นครพิงค์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานที่ตนเองรับผิดชอบ ตามระเบียบโรงพยาบาลนครพิงค์
ฉ. ได้รับสวัสดิการที่พักอาศัยภายในโรงพยาบาลนครพิงค์ ตามระเบียบโรงพยาบาลนครพิงค์ ว่าด้วย ที่พักอาศัย
ช. ได้รับสิทธิ์ในการเข้าใช้ทรัพยากรทางการศึกษาของศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาล นครพิงค์ เช่น ห้องสมุด การเข้าใช้ระบบอินเตอร์เน็ตการเข้าถึงฐานข้อมูลทางวิชาการของโรงพยาบาลนครพิงค์
ซ. ได้รับสิทธิ์ในการลา และการลาออก ตามระเบียบข้อตกลง
ฌ. ได้รับสิทธิ์ในการขอรับคำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษา หัวหน้ากลุ่มงานฯตลอดจนคณะ อนุกรรมการการฝึกอบรมและสอบฯแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
ญ. ได้รับสิทธิ์ในการเสนอตัวแทนของแพทย์ประจำบ้านเข้าเป็นอนุกรรมการการฝึกอบรมและสอบฯ แพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
ฎ. ได้รับสิทธิ์อุทธรณ์ กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งจากการฝึกอบรม การปฏิบัติงาน หรือ การประเมินผลการฝึกอบรม